ข้อใดเป็นวิธีการสร้างสัมพันธภาพในครอบครัว *

1.การรู้จักตนเองและรู้จักคนอื่น คนเราต้องมีความเข้าใจในความต้องการของตนและของผู้อื่น ยอมรับสภาพความเป็นจริงของตน และผู้อื่น ไม่ยึดถือข้อบกพร่องใดๆ ในร่างกายของตนเป็นปมด้อย จนขาดความมั่นใจในการคบหาผู้อื่น และยอมรับความแตกต่างระหว่างตัวเองกับคนอื่นๆ รวมทั้งต้องรู้จักประมาณตน ควบคุมความต้องการของตัวเอง เมื่ออยากไของหรือสิ่งต่างๆ อย่างเพื่อนบ้าง แต่พ่อแม่ไม่สามารถจัดหาให้ได้ก็ต้องยอมรับความจริง ไม่อิจฉาเพื่อนหรือพาลโกรธพ่อแม่

2. มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี รู้จักพูด รู้จักฟัง เรียนรู้ที่จะพูดเรื่องต่างๆ ในจังหวะที่เหมาะสม เปิดโอกาสให้ผู้อื่นได้แสดงความคิดเห็น และรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น เอาใจใส่ในตัวเพื่อน และให้ความสำคัญกับเพื่อนด้วยความบริสุทธิ์ใจ รู้จักช่วยเหลือเกื้อกูลเพื่อนตามควรแก่สภาวะและโอกาส ตลอดจนมีความซื่อสัตย์และจริงใจต่อเพื่อน

3. การมองโลก ให้มองโลกในแง่ที่เป็นจริง ไม่มองในแง่ดีจนเกินไป อันอาจถูกหลอกลวงและคดโกงได้ แต่ไม่มองคนในแง่ร้ายจนเกินไป อันจะทำให้เป็นคนใจแคบ ไม่รู้จักการให้อภัย

4. มีน้ำใจเป็นนักกีฬายอมรับผิดเมื่อรู้ว่าตนผิด ปฏิเสธในสิ่งที่ตนไม่สามารถทำได้ เมื่อให้สัญญาอย่างไรไว้กับใคร ก็ต้องพยายามทำตามสัญญานั้นให้ดีที่สุด นอกจากนั้นยังต้องรู้จักเสียสละและให้อภัยแก่เพื่อนเมื่อเกิดข้อผิดพลาด โดยทำความเข้าใจถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดข้อผิดพลาดนั้นๆ และร่วมมือช่วยเหลือกันปรับปรุงแก้ไขตามสาเหตุที่เกิดขึ้นต่อไป

   องค์ประกอบที่สร้างความพอใจระหว่างกัน ได้แก่

1.บุคลิกภาพ ผู้ที่มีบุคลิกภาพดี แต่งกายสะอาด สุภาพเรียบร้อยและถูกกาลเทศะ ย่อมเป็นที่ชื่นชอบของบุคคลโดยทั่วไป

2.ความสามารถ คนที่มีความสามารถทำสิ่งต่างๆ ได้ดี เรียนเก่ง เล่นกีฬาเก่ง เล่นดนตรีเก่ง พึ่งตนเองได้ ฯลฯ ย่อมทำให้ผู้อื่นอยากคบหาสมาคมด้วย

3.รสนิยม คนที่มีรสนิยมคล้ายคลึงกัน มีความชอบใกล้เคียงกัน มักคบกันได้

4.ความใกล้ชิดคุ้นเคย ถ้าคนเราได้มีโอกาสทำกิจกรรมร่วมกัน หรือทำงานร่วมกัน มีโอกาสได้ศึกษาอุปนิสัยใจคอซึ่งกันและกัน ทำให้เข้าใจและเห็นอกเห็นใจกัน ก็ย่อมจะนำมาซึ่งความพึงพอใจของทั้งสองฝ่าย มีไม่น้อยที่ชายและหญิงแต่งงานกัน โดยเริ่มต้นมาจากความใกล้ชิด สนิทสนมและคุ้นเคยกัน

5.การรู้จักการให้และการรับ มนุษย์เราจะอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ เมื่อต่างฝ่ายต่างเรียนรู้ที่จะให้และรู้จักการรับในแต่ละสิ่งพอประมาณ ไม่เอาเปรียบซึ่งกันและกัน

6.การรู้จักการควรและไม่ควร ถ้าต่างฝ่ายต่างรู้ว่าเมื่อไรควรจะสนองตอบอย่างไร เมื่อใดควรจะสามารถหลีกเลี่ยงหรือไม่ควรไปเกี่ยวข้อง ก็จะทำให้ไม่บาดหมางกัน และมีสัมพันธไมตรีอันดีต่อไป

 ทักษะที่จำเป็นในการสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างบุคคล

      ทักษะที่จำเป็นในการสร้างสัมพันธ์ภาพที่ดีระหว่างบุคคล มี 5 ประการ ได้แก่

1.การเคารพนับถือกัน (respect) คือ การรู้จักและเคารพในสิ่งที่บุคคลนั้นเป็นอยู่ เช่น เคารพพ่อแม่ที่เลี้ยงดูเรามา ทำงานหนักเพื่อสร้างครอบครัว เราจึงเชื่อฟังคำแนะนำจากพ่อแม่ เชื่อในสติปัญญา ความสามารถของเพื่อนบ้าง

2.ความรับผิดชอบ (responsibility) คือ การที่เราสามารถดูแลตัวเอง เป็นที่พึ่งพึงไว้เนื้อเชื่อใจของคนอื่นได้ สามารแยกแยะสิ่งถูกผิดได้ เช่น เราสามารถกลับบ้านตรงเวลาตามที่ตกลงกับพ่อแม่ไว้เสมอ เพราะไม่อยากให้พ่อแม่เป็นห่วง รับผิดชอบทำงานที่ได้รับมอบหมายจากกลุ่มจนงานสำเร็จได้ผลดี

3.ความเข้าใจ (understanding) คือ การรู้จักผู้อื่นโดยเข้าใจถึงอารมณ์ และความรู้สึกของผู้อื่น เช่น ไม่พยายามเซ้าซี้เพื่อนให้ไปเที่ยวตามศูนย์การค้าถ้าเขาไม่ชอบ เห็นอกเห็นใจในความทุกข์ของเพื่อน

4.การสานต่อความสัมพันธ์ (working at relationship) คือ ความพยายามที่จะรักษาความสัมพันธ์ไว้ อดทนและตั้งใจที่จะแก้ปัญหาด้วยกัน โดยไม่เป็นฝ่ายรอให้อีกฝ่ายหนึ่งเริ่มต้นก่อน เช่น เมื่อเราทะเลาะกับเพื่อน หายโกรธแล้วก็ค่อยๆ คุยกัน เพื่อเล่าความรู้สึกที่เกิดขึ้นและหาวิธีการลดความขัดแย้ง

5.การดูแลเอาใจใส่ (caring) คือ การคิดถึงความรู้สึกและความต้องการของอีกฝ่ายหนึ่งและพยายามปฏิบัติสิ่งดีๆ ให้กัน เช่น เพื่อนป่วยเราควรไปเยี่ยม

   เทคนิคการสร้างสัมพันธภาพที่ดีในชีวิตครอบครัวและสังคม

1.ต้องเอาใจใส่ดูแลและเอื้ออาทรต่อกันในภาษาอังกฤษได้ใช้คำว่า “care” คือ การดูแลเอาใจใส่ถ้าเรารักกันในครอบครัว เราก็จะต้องช่วยกันดูแลเอาใจสี่กับสมาชิกในครอบครัว ทั้งระหว่างสามีและภรรยาระหว่างพ่อแม่กับลูก พี่กับน้อง และระหว่างลูกหลานกับผู้สูงอายุการเอาใจใส่ดูแลครอบครัวถึงความเป็นอยู่ทุกอย่าง การเอาใจใส่สุขภาพของกันและกันอาการการกินชีวิตประจำวัน การเล่าเรียนของลูกหลาน ความสะอาด การใช้จ่ายเงินทอง การเดินทางไปทำงาน ไปโรงเรียน หรือไปธุระ การมีเพื่อนเพศเดียวกัน หรือเพื่อนต่างเพศของลูกๆ ความสุขความทุกข์ที่ต้องการระบาย เป็นต้นการมีเพื่อนคนหนึ่งรักต้นไม้มาก เวลาเช้าตื่นขึ้นมา ก็จะไปดูต้นไม้ก่อน ตอนบ่ายกลับมาจากทำงานก็จะทำอย่างเดียวกัน คอยเฝ้าดูแลว่าหนอนจะมาทำลายใบหรือไม่ คอยพลิกใบดู คอยรดน้ำพรวนดิน ดูแลอย่างใกล้ชิด อีกคนหนึ่งรักสุนัข พฤติกรรมการดูแลก็เห็นชัด เช่นอาบน้ำ แปรงขน เก็บตัวเห็บ ดูแลอาหารการกินให้ถูกต้องตามหลักการเลี้ยงสุนัข เล่นด้วยพูดด้วย อีกรายรักมาก เลี้ยงบนบ้าน มีที่นอนสวยงามให้พาไปออกกำลังกาย ฯลฯ เราคงไม่อยากบอกว่า เรารักต้นไม้ขณะเดียวกันก็ปล่อยให้ต้นไม้ตายหรืออับเฉาเราคงไม่อยากบอกว่า เรารักสุนัขแต่ปล่อยให้สุนัขอดตายหรือผอมโซ หรือเป็นขี้เรื้อนดังนั้น ถ้าเรารักผู้ใด เราคงอยากดูแลเอาใจใส่ ผู้นั้นมาก มีการห่วงใยมีความเอื้ออาทรต่อกันและกันอย่างไรก็ดี มีข้อคิดเพิ่มเติมว่า การเอาใจใส่ดูแลและความห่วงใย ความเป็นจริงใจไม่เสแสร้งกระทำ และไม่กระทำมากเกินไปจนกลายเป็นการจุกจิกจู้จี้และล่วงล้ำสิทธิส่วนตัวจนเกิดความรำคาญขึ้นมาถ้ารักต้นไม้ ก็มิได้หมายความว่าต้องนั่งเฝ้าทั้งวัน หรือถ้ารักสุนัขก็มิได้หมายความว่า ไม่เปิดโอกาสให้สุนัขอยู่ตามลำพังบ้างสมาชิกในครอบครัว ก็ควรมีเวลาส่วนตัวด้วยได้ ต้องมีความสมดุลระหว่างพฤติกรรมความห่วงใยและการเอาใจใส่ดูแลกับการมีเวลาส่วนตัว

2.ต้อง “รู้จัก” คนที่เรารักในภาษาอังกฤษใช้คำว่า “knowledge” ซึ่งแปลว่า “ความรู้” หมายความว่า ถ้าเรารักใคร เราจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับผู้นั้น กับคนในครอบครัวก็ทำนองเดียวกัน ภรรยาและสามีต้องรู้จักกันให้ดี และเข้าใจกันให้ดี รู้ความชอบความไม่ชอบอะไร ต่างกันหรือเหมือนกันตรงไหน ชอบไม่ชอบรับประทานอะไร รู้จักนิสัยใจคอ ยิ่งครองรักกันนานเท่าใด ยิ่งต้องรู้จักกันมากขึ้น ไม่ใช่รู้จักกันน้อยลง และต้องเข้าใจกันให้มากขึ้น ไม่ใช่เข้าใจกันน้อยลง ถ้าเรารักลูก เราก็ต้องรู้จักและมีความรู้เกี่ยวกับลูกของเรา มีอะไรที่ชอบไม่ชอบวิชาที่เรียนอยู่ทั้งหมด ถนัดวิชาอะไร มีปัญหากับวิชาใด ชอบที่จะมีอาชีพอะไร อุปนิสัยอย่างไร จุดเด่นจุดด้อยเป็นอย่างไร เราจะช่วยเหลือได้อย่างไรตรงไหนลักษณะนิสัยเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ รวมทั้งเจตคติเป็นอย่างไร “ธรรมชาติ” ของเขาเป็นอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับลูกๆ ที่เปลี่ยนแปลงมากมายตั้งแต่เขาเกิดจนโตเป็นเด็ก เป็นหนุ่มเป็นสาวและเป็นผู้ใหญ่ หรือการเปลี่ยนแปลงของผู้สูงอายุ เป็นต้น เราทุกคนจะต้อง “ปรับ” ความรู้นี้ให้ตามกันไปด้วย เพื่อช่วยในการที่จะมีพฤติกรรมตอบสนองต่อกันและกันยกตัวอย่าง ถ้าเรารักต้นกุหลาบและอยากปลูกกุหลาบ เราคงต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกุหลาบพันธุ์นี้ว่า ต้องการน้ำมากน้อยเพียงไร ต้องการปุ๋ยอะไรจึงจะเจริญเติบโตและออกดอก ต้องการดินอย่างไร ต้องการความชื้นและแดดขนาดใด ข้อมูลข้อสนเทศเหล่านี้จะทำให้เราเลี้ยงกุหลาบได้ดีที่สุดสมกับที่เรารักต้นกุหลาบ หรือถ้าเราเลี้ยงสุนัขก็เช่นกัน สุนัขพันธ์นี้ ขนจะปรกตาแล้วจะต้องดูแลอย่างไร อาจต้องดูแลมิให้ขนเข้าตาเป็นต้น รู้จักนิสัย รู้จุดอ่อน รู้จุดเด่นจุดด้อย ยิ่งรู้มากเท่าใดก็จะช่วยให้รู้จักดูแลดีขึ้นเท่านั้น

3.ต้องเคารพกันและกันในภาษาอังกฤษที่ อิริค โฟรม์ นักจิตวิทยาท่านหนึ่ง ใช้คำว่า “respect” หมายความว่า ให้ความเคารพนับถือกันและกันให้เกียรติกันและกันการเคารพแสดงออกโดยพฤติกรรมหลายด้าน เช่น การฟังกัน บางทีสามีภรรยาคุยกัน อีกคนหนึ่งกำลังพูด อีกคนหนึ่งก็ไม่ฟัง ไม่ฟังเพราะทำเป็นไม่ได้ยินก็ลักษณะหนึ่ง อีกลักษณะหนึ่งคือพูดอะไรก็ไม่ยอมฟัง เป็นต้น อย่างนี้เรียกว่าไม่เคารพกันและกันหรือแม่ก็ไม่ฟัง เพราะถือเป็นเรื่องเล็กน้อย เรื่องไม่ฟังกันนี้ เกิดขึ้นบ่อยในครอบครัวที่มีปัญหา และยิ่งจะทำให้มีปัญหามากขึ้นถ้าไม่ฟังกันและกันการเคารพอาจแสดงออกด้วยการให้เกียรติกันและกันได้ เช่น เมื่อพบเพื่อนก็ควรแนะนำให้เพื่อนและสามีหรือภรรยารู้จักได้ เป็นต้น เวลาเข้าหมู่คณะไม่พูดถึงสามีหรือภรรยาไปในทำนองดูถูก เช่น สามีอาจพูดว่า “พะโล้ที่บ้าน ” หรือ “ ยายอ้วนผู้บังคับบัญชา” เป็นต้น มีประโยคภาษาอังกฤษที่ว่า “familiarity breeds contempt” หมายความว่า ยิ่งรู้จักมักคุ้นกันมากขึ้นก็ ยิ่งดูถูกกันมากขึ้น เมื่อคุ้นเคยกันมากๆ ก็กลายเป็นกันเองไป เมื่อกันเองกันเกินไปก็เลยดูหมิ่นกันเอง คนกันเองเก็บไว้หลังบ้าน อย่างนี้เป็นต้น อันที่จริงยิ่งรู้จักคุ้นเคยกันเท่าใด ยิ่งต้องให้เกียรติกันมากขึ้นจึงจะถูก แต่ส่วนใหญ่จะไม่คิดอย่างนั้น การเคารพกันอีกประการหนึ่งที่สำคัญ คือ การเคารพในการความคิดเห็นที่แตกต่างกัน หรืออีกนัยหนึ่งการให้ความสำคัญ เรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคล คนเราไม่เหมือนกัน มีมุมมองที่ต่างกันได้ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ และซึ่งแท้ที่จริงเป็นฐานของประชาธิปไตยที่จะมีความเห็นไม่เหมือนกัน ภายในครอบครัว สมาชิกในครอบครัวก็อาจเห็นไม่เหมือนกันได้ ถ้าอยากจะเปลี่ยนใจผู้อื่น ก็คงต้องใช้วิธีอธิบายด้วยเหตุผลให้สมบูรณ์เพื่อโน้มน้าวให้เข้าใจเรื่องให้ตรงกันแต่พฤติกรรมที่มีความรักนั้น ย่อมเคารพในความเห็นของคนที่เรารัก ไม่จำเป็นว่าจะต้องมีการยอมรับ แต่เปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันได้พฤติกรรมการเคารพ อาจมีอีกลักษณะหนึ่งที่เรียกว่า “เกรงใจ” คำคำนี้ไม่มีในภาษาอังกฤษ แต่เป็นลักษณะไทยอันหนึ่งที่มีคุณค่าถ้าใช้ให้ถูกต้อง พ่อแม่บางคนอาจสงสัยว่าถ้ารักลูกแล้วต้องเกรงใจลูกด้วยหรือ ลูกจะไม่เหลิงหรือ คำตอบก็คือการแสดงความเกรงใจลูกจะสอนให้ลูกรู้จักเกรงใจเรา การเกรงใจไม่ใช่กลัวแต่เป็นการให้เกียรติและให้ยอมรับในการมีศักดิ์ศรีของการเป็นมนุษย์ของบุคคลที่เรารัก จะทำให้เราซึ่งเป็นพ่อแม่ไม่ถือว่าลูกเป็นสมบัติของตัวจะทำอะไรด้วยก็ได้ ซึ่งมิใช่เป็นอย่างนั้นเลย มนุษย์ทุกคนมีศักดิ์ศรีรวมทั้งเด็กตัวเล็กๆ ซึ่งเราต้องให้ความเกรงใจ ด้วยเหมือนกัน การเกรงใจทำให้บุคคลรู้สึกว่ามีคุณค่า และจะช่วยทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลดีขึ้นปัญหาที่มักเกิดขึ้น ก็เพราะเราเที่ยวได้ไปเกรงใจคนอื่น แต่ไม่เกรงใจคนในครอบครัวเดียวกันทั้งๆ ที่เรานึกว่านั่นคือคนที่เรารัก

4.ต้องมีความรับผิดชอบคำที่ใช้ในภาษาอังกฤษคือ “responsibility” อิริค โฟรมม์ กล่าวว่า คำนี้น่าสนใจ เพราะมาจากคำ 2 คำ คือ “response” และ “ability” ซึ่งหมายความว่า มีความสามารถในการตอบสนอง การตอบสนอง หมายถึง การมีปฏิกิริยาต่อความต้องการไปในทางที่ให้ความต้องการนั้นหมดไป หรือคลายไปดังนั้น เมื่อลูกมาถามพ่อให้อธิบายอะไรให้ฟัง แทนที่จะตอบว่า พ่อยุ่ง ไม่มีเวลา ก็จะตอบสนองด้วยการฟังหรือถ้าขอให้พ่อช่วย พ่อก็จะช่วย เป็นต้น การมีความรับผิดชอบ หมายรวมไปถึง การยอมรับความผิดหรือความชอบ เรื่องของความชอบคงไม่ต้องพูดถึงมาก เพราะเรื่องดีๆ ทุกคนก็อยากเป็นหรือมีส่วนด้วยอยู่แล้ว ที่เป็นมากในสังคม คือ เมื่อลูกกระทำผิด พ่อแม่ (โดยเฉพาะที่พ่อแม่มีเงิน หรือมีอิทธิพล) ก็จะวิ่งเต้นให้ลูกกลายเป็นกระทำถูก พฤติกรรมอย่างนี้ เรียกว่า ไม่รับผิดชอบ การไม่รับผิดชอบ รวมไปถึงการสอนลูกหรือไม่ชี้แจงเรื่องความไม่ถูกต้องและถูกต้อง หรืออาจเรียกว่า จริยธรรมในการครองตน การเป็นต้นแบบที่ไม่ดีก็แสดงความไม่รับผิดชอบ การเมินเฉยละเลยไม่ทักท้วงต่อการกระทำที่ไม่ถูกต้องก็เป็นการไม่รับผิดชอบ การละเลยหรือละเมิดสิทธิของเด็ก สิทธิของพ่อแม่ และสิทธิผู้สูงอายุ หรือผู้พิการ ก็เป็นการไม่รับผิดชอบ มีลูกแล้วไม่เลี้ยง มีผู้สูงอายุแล้วไม่เลี้ยง มีสมาชิกในครอบครัวเป็นคนพิการแล้วตัดสิทธิ์ไม่ให้ได้รับการศึกษาหรือพัฒนาศักยภาพให้เต็มที่ เหล่านี้เป็นตัวอย่างของการไม่รับผิดชอบทั้งสิ้น ในการรณรงค์ปีครอบครัวสากลปี พ.ศ. 2537 ส่วนหนึ่งของการรณรงค์ คือ ต้องรับผิดชอบในครอบครัว ถ้าสามีภรรยาไม่พร้อมที่จะมีสามีหรือภรรยาคนเดียว ก็ไม่ควรสมรส ถ้าพ่อแม่ไม่พร้อมที่จะรับผิดชอบลูก ก็ไม่ควรมีลูกจนกว่าจะพร้อมบางคนใช้ “เงิน” ซื้อความรับผิดชอบ เมื่อไม่อยากรับผิดชอบลูก ก็ให้ “เงิน” เสีย ซื้อความรักด้วยเงิน ซื้อการเอาใจใส่ดูแลด้วย “เงิน” ซื้อความรำคาญด้วย “เงิน” ในที่สุดก็ซื้อความรับผิดชอบของตนเองด้วย “เงิน” คนประเภทนี้จะรักตัวเองมากกว่ารักคนอื่น และจริงๆแล้วเป็นพฤติกรรมที่ต่อต้านความรัก อิริค โฟรมม์กล่าวว่า ความรักนั้นจะต้องประกอบด้วยพฤติกรรมทั้ง 4 ประเภท ดังกล่าวไปแล้วทั้งหมด มิใช่มีแต่อย่างหนึ่งอย่างใดแต่ประการเดียว นอกจากอิริค โฟรมม์แล้ว ยังมีนักจิตวิทยาท่านอื่นๆ มีความเห็นเพิ่มเติมว่า ความรักน่าจะแสดงได้ด้วยพฤติกรรมอื่นๆ อีกดังต่อไปนี

5.ต้องให้อภัยกันและกัน คนเราอยู่ร่วมกันหลายคน ก็คงจะมีการกระทบกระทั่งกันบ้างไม่มากก็น้อย ถ้ามีความรักกันแลกันก็ต้องรู้จักให้อภัย ยกโทษให้ ไม่ผูกพยาบาทและลืมเรื่องเลวร้ายเหล่านั้นเสีย ภรรยาสามีบางคู่ มีเรื่องระหองระแหงกัน แล้วก็ผูกใจเจ็บ บางทีการผูกใจเจ็บนี้โยงมาถึงการไม่ยอมร่วมเพศกันก็มี ซึ่งทำให้ปัญหาบานปลายในที่สุด บางครั้ง การโกรธกันแสดงออกด้วยการเก็บกด หรือบางครั้งก็แสดงออกด้วยการด่าทอ การแสดงความก้าวร้าวในรูปแบบต่างๆ ด่าถึงบุพการีก็มี (ซึ่งเป็นเหตุให้หย่าร้างกันได้) บางครั้งก็อาจถึงขั้นทำร้ายร่างกายกัน รูปแบบดังกล่าวข้างต้น ควรลดละเลิกเพราะไม่เป็นผลดีแก่ใคร วิธีทีดีก็คือ การให้เวลาแก่ตัวเองคลายความโกรธลงบ้าง และพูดจาด้วยกันอย่างมีเหตุผลและอย่างสันติ เมื่อเข้าใจเรื่องราวดีแล้ว ก็ให้อภัยกันและกัน อย่ามีความพยายามที่จะเอาชนะหรืออย่ามีความพยายามที่จะได้หรือเอาเปรียบอีกฝ่ายหนึ่ง ในหลายๆ ครอบครัวที่มีลูกที่ประพฤติผิด พ่อแม่บางคนก็ชอบจดจำความผิดนั้นไว้ บางทีก็เก็บข้อมูลข้อสนเทศนั้นไว้ต่อว่าลูกอีกในโอกาสต่อๆ มา พูดง่ายๆ ก็คือ ไม่ลืมความผิดของคนอื่นๆ (และไม่ยอมรับความผิดของตนเอง) ลูกก็จะได้ฟังความผิดของตนทวนไปทวนมา ทำให้เกิดความโกรธความไม่สบายใจ และอาจนึกไปว่าพ่อแม่อาจไม่รักตัว หรือการให้อภัยกันไม่ได้ แสดงออกด้วยความรุนแรงต่อเด็ก ซึ่งดูจะมีมากขึ้นตามลำดับ เช่น ตีลูกด้วยอารมณ์ ฉุนเฉียว มีเด็กรายหนึ่งถูกตีด้วยสายลวดไฟฟ้า อีกคนถูกตีด้วยไม้แขวนเสื้อ อีกรายหนึ่งถูกเตารีดร้อนๆ นาบที่หน้าอก ฯลฯ เหล่านี้ล้วนเป็นอาการโกรธที่เกินเหตุทั้งสิ้น การให้อภัย ไม่ได้หมายความว่า จะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งได้ใจ เหลิง และกระทำการไม่สมควรต่อไปเรื่อยๆ การให้อภัยนั้นเกิดขึ้นหลังจากการทำความเข้าใจกันแล้ว ว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดไม่ควร การให้อภัยเกิดขึ้นหลังจากมีการขอโทษกันแล้ว ซึ่งการรู้จักขอโทษก็เป็นพฤติกรรมที่สำคัญ แต่ความรักนั้นส่วนหนึ่งก็คือการให้อภัย ในที่สุดต้องไม่จดจำความผิดนั้น ครอบครัวก็จะอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข